ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ จ.กรุงเทพมหานคร
เที่ยวท้องฟ้าจำลอง
ทริปนี้จะพาไปเที่ยวกรุงเทพมหานครกันค่ะ เหตุเกิดจากปิดเทอมใหญ่ของหลานน้อย ไม่รู้จะพาไปเที่ยวที่ไหนดีแต่เห็นว่าช่วงเมษายนกรุงเทพฯ รถไม่ติดมากเท่าไหร่พวกเราก็เลยพาหลานๆ ไปเที่ยวกรุงเทพฯ กันค่ะ ด้วยความที่ผู้เขียนโตมาไม่เคยไปท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเลยสักครั้ง ครั้งนี้เลยได้โอกาสไปเรียนรู้พร้อมหลานๆ ด้วยเลย
จากที่พักกรุงเทพฯ ริเวอร์โซต์กรุงเทพคำนวณเวลาแล้ว 45 นาทีเอง น่าจะไม่ไกลในความคิดแต่พอขับรถไปเองนั้นเกินกว่าหนึ่งชั่วโมงเนื่องจากคิดว่ารถไม่ติดหรอกกรุงเทพฯ ที่ไหนได้รถติดมากแล้วท้องฟ้าจำลองอยู่เอกมัยคนละทิศกับโรงแรมของพวกเราเลย แต่ไปถึงก็ใกล้เวลารอบแสดงพอดี
โชคดีมากที่วันนี้ไปถึงท้องฟ้าจำลองมีรถออกจากด้านหน้าพอดี พวกเราเลยได้เข้าจอดหน้าท้องฟ้าจำลองเลย รถเยอะมากเลยนะต้องแพลนมาดีๆ จากนั้นก็เสียค่าบัตรเข้า 30 บาท สำหรับเด็ก 20 บาท ตามพวกเราเข้าไปดูด้านในกันค่ะ
ประวัติท้องฟ้าจำลอง
ในช่วงยุค 60 หลายประเทศทั่วโลกมีท้องฟ้าจำลองเพื่อให้การศึกษาแก่นักเรียนและประชาชน ประเทศไทยเองก็มองเห็นความสำคัญกับเครื่องมือการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์นี้เช่นกัน ในระยะเวลา 20 ปี หลังสงครามโลกคั้งที่ 2 ประเทศไทยมีการขยายตัวของประชากร ทำให้จำนวนนักเรียนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และนอกจากปริมาณโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นตามแล้วรัฐได้เล็งเห็นว่าสถาบันการศึกษานอกระบบโรงเรียนก็จำเป็นต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2504 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการท้องฟ้าจำลองและหอดูดาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมศีลธรรมจรรยาให้แก่เยาวชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในการเรียนวิชาดาราศาสตร์ โดยสามารถเรียนได้จากของจำลองซึ่งเสมือนของจริงมากและมีประสิทธิภาพมากกว่าการสอนปากเปล่า พร้อมได้ความเพลินเพลิน เสริมการเรียนรู้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ในการหาสถานที่ก่อสร้างท้องฟ้าจำลอง คณะฯ ได้มีการคำนึกถึงการคมนาคมที่สะดวก มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยและอุทกภัยรวมถึงคำนึงถึงการขยายการสร้างอาคารอื่นๆ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและอะควาเรียม
ในเวลานั้นมีสถานที่เหมาะสมอยู่ 3 แห่ง คือ 1. ที่ดินบริเวณสนามเสือป่า ต.บ้านกล้วย อ.พระโขนง จ.พระนคร ซึ่งก็คือที่ตั้งปัจจุบันของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ บริษัท บี.กริมแอนด์โก (B.Grimm&Co., R.O.P) เป็นตัวแทนบริษัทคาร์ลไซซ์ (Carl Zeiss) ในประเทศเยอรมนี เสนองบประมาณแบ่งเป็นค่าอุปกรณ์ต่างๆ คือ เครื่องฉายดาว กล้องดูดาว เครื่องปรับอากาศ เครื่องไฟฟ้าสำรอง ลิฟต์ ฯลฯ เป็นเงิน 9,141,000 บาท และค่าก่อสร้างอาคารเป็นเงิน 3,298,031 บาท รวมเป็นเงิน 12,439,031 บาท (สมัยนั้นทองคำประมาณบาทละ 400 บาท ) โดยในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2505 พณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์
อาคารท้องฟ้าจำลองเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กช้้นเดียวตามแบบของห้องดาราสตร์แห่งสถาบันวัฒนธรรมบริษัท คาร์ลไซซ์ (Public Cultural for Astronomical Studies of Casl Zeiss) มีขนาดกว้าง 31 เมตร ยาว 38.60 เมตร สูง 5 เมตร และมีพื้นที่ใช้สอยรวมตัวโดม 270 ตร.ม บริเวณที่เป็นโดมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 20.6 เมตร สูง 13 เมตร มีเก้าอี้อยู่โดยรอบ 500 ที่นั่ง
ติดกับอาคารท้องฟ้าจำลองคือ หอดูดาว เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กมีฐานกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร สูง 20 เมตร เป็นสถานที่ตั้งกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงคูเต้ เส้นผ่านศูนย์กลาง 150 มิลลิเมตร โดยมีโดมโลหะ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.70 เมตร ครอบอยู่
หลังจากสร้างตัวอาคารและหอดูดาวเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ของบริษัทคาร์ลไซซ์ (Carl Zeiss) จากประเทศเยอรมณีก็นำเครื่องฉายดาวคาร์ลไซซ์มาร์คโฟร์ (Carl Zeiss Mark IV) และกล้องโทรทรรรศน์คูเต้มาติดตั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 5 เดือน
วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ โดยมีพลเรือเอกหลวงชลธารพฤฒิไกรเป็นผู้บรรยายดาวคนแรกทำการบรรยายถวาย
พอเข้ามาในบริเวณท้องฟ้าจำลองซึ่งเดือนเมษายนปี 2566 เป็นปีที่ความร้อนของกรุงเทพฯ พุ่งถึง 50 องศาเลยทีเดียว เข้ามาไม่ต้องสืบร้อนมากจ้า ระหว่างที่รอรอบเพื่อจะเข้าชมการบรรยาย พวกเราเลยไปหาอะไรทานกันที่โรงอาหารของท้องฟ้าจำลอง จากนั้นก็ต้องเข้าห้องแอร์กันแล้วล่ะเพราะไม่ไหวจริงๆ ก่อนเข้าชมการบรรยายสามารถเดินชมนิทรรศการโดยรอบอาคารก่อนได้คะ น่าสนใจเลยทีเดียว
เด็กก็ดูสนใจเลยล่ะเพราะเข้ามาในห้องแอร์แล้วสามารถอยู่ได้แล้ว หลานเราเป็นเสมือนแพนกวินอยู่ที่ร้อนนานๆ ไม่ได้ พอได้อยู่ที่เย็นๆ ก็ดูนั่นนี่สนุกเค้าล่ะโดยมีป๊ะป๊าของหลานๆ เดินสอนเพราะสาระเยอะอยู่แล้วก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีของหลานๆ
พอใกล้ถึงรอบการบรรยายคนก็มารอกันเยอะมาก ไม่น่าเชื่อว่าคนมาที่นี่กันเยอะมากและการมานั้นต้องมาวันธรรมดาเท่านั้นนะ เพราะเค้าเปิดเฉพาะวันธรรมดานั่นหมายถึงถ้าพ่อแม่อยากพาลูกค้ามาต้องลางานมาจ๊ะ ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นเลยลางานมา ดีนะปีนี้วันลาเหลือเยอะ
ห้องฉายดาวและภาพยนตร์เต็มโดม (Star and Full Dome Show)
ห้องฉายดาว เป็นหนึ่งห้องสำคัญของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ห้องมีเป็นรูปทรงวงกลมขนาดใหญ่ หลังคาเป็นรูปโดมสูง สำหรับฉายภาพดวงดาวให้คล้ายกับดวงดาวในท้องฟ้าจริง จากเครื่องฉายดาวที่มีระบบการทำงานซับซ้อน ซึ่งล่าสุดนั้นเป็นระบบฉายดาวดิจิทัล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้คือ
- การฉายภาพ เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลที่มีชื่อว่า “คริสตี้” ถือเป็นหนึ่งในพระเอกของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เป็นเครื่องฉายความละเอียดสูงสุด 4K หรือ Ultra High Definition ความสว่างต่อเครื่องสูงถึง 30,000 Lumens โดยฉายภาพจากเครื่องฉายภาพจำนวน 2 ตัวซึ่งภายในบรรจุคอมพิวเตอร์อีก 4 ตัวฉายภาพในมุมที่ต่างกัน และด้วยเลนส์ Fish eye ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ฉายภาพได้กว้างกว่าเครื่องฉายภาพทั่วไป และติดตั้งเครื่องฉายภาพ โดยไม่ให้เลนส์โดนส่วนบนของเครื่องฉายดาวระบบกลไกมอเตอร์และเลนส์ ทำให้ลำแสงของเครื่องฉายดาวที่ฉายขึ้นไปบนจอโดมเลยจุดกึ่งกลางของจอโดมและส่วนล่างลำแสงที่ฉายออกไปจะไปสิ้นสุดที่ขอบโดมฉายดาว ซึ่งทำให้เครื่องฉายทั้ง 2 ตัวนั้นมีพื้นที่ซ้อนทับกันด้านบนกลางจอโดม (Blending Region) ทำให้ภาพที่ได้มีความละเอียด คมชัดจากการซ้อนทับที่ซับซ้อน จนทำให้สามารถฉายดาวทั้งในอดีตและปัจจุบันได้นับแสนดวง และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบคลาวด์โดยสามารถดึงข้อมูลจากท้องฟ้าจำลองทั่วโลกที่ใช้ระบบฉายเดียวแบบเดียวกันมาฉายได้
- การควบคุม “ดิจิสตาร์ไฟว์” (Digistar 5) โปรแกรมควบคุมการทำงานการฉายภาพบนจอโดมในท้องฟ้าจำลองกรุงเทพทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีของ Digistar5 มีระบบ Auto Blending และ Auto Alignment ที่ทำให้เครื่องฉายภาพ ฉายภาพเป็นภาพเดียวกันได้เสมือนการฉายด้วย เครื่องฉายภาพเครื่องเดียว
อากาศด้านในเย็นมาใครไม่ชอบความหนาวแนะนำให้พกเสื้อคลุมมาด้วยนะจ๊ะ การบรรยายก็ใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง ตลอดการบรรยายได้ความรู้ดีมากและการนำเสนอเรื่องก็น่าสนใจดีนะ แต่ดูไม่เหมาะกับเด็กต่ำกว่า 8 ขวบเท่าไหร่เพราะเค้าจะดูนานๆ ไม่ค่อยได้
พอใกล้นาทีที่ 35 จะเริ่มมีเสียงร้องจากเด็กน้อยแบบไม่อยากดูแล้วอ่ะ อยากกลับบ้าน อันนี้ก็ขำนะน่าจะมาจากความเป็นเด็กแหละ เพราะตอนเข้าการบรรยายแบบหนังถ้าเด็กจะเบื่อทันทีเพราะมีแต่สาระ แต่ดีที่สองเด็กน้อยไม่งอแงมากดูจนจบก็เป็นการเที่ยวท้องฟ้าจำลองที่ประทับใจนะสำหรับผู้เขียนเนื่องจากมีความรู้เรื่องดาวและทิศเพิ่มขึ้น
พิกัดท้องฟ้าจำลอง :: https://goo.gl/maps/JVpKx2fB4ZCpsDXh8
ข้อมูลสำหรับวีลแชร์
ใครที่อยากมาชมท้องฟ้าจำลองหรือมากับลูกหลาน ที่นี่วีลแชร์มาได้สบายมากค่ะ มีทางลาดและทางสำหรับวีลแชร์โดยเฉพาะ ทางส่วนใหญ่เป็นทางเรียบเข็นง่ายค่ะ
Editor :: Patthanid Chenagtawee
IG :: patthanid
Facebook :: โสดเที่ยวสนุก By Patthanid
Website :: www.ablogtravel.com