พระบรมธาตุสวี (Sawi)
Day 3 ชมความงามพระธาตุสวี
หลังจากออกจากอ่าวครามโฮมสเตย์ พวกเราก็ขับต่อไปยังวัดพระธาตุสวีที่อยู่ไม่ไกลจากอำเภอสวีมากนัก ไหนๆ มาเที่ยวแล้วก็ต้องแวะมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเอาฤกษ์เอาชัยกันเสียหน่อย
วัดพระธาตุสวี อยู่ในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอสวี อยู่ติดกับแม่น้ำสวีห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นหนึ่งในจตุธรรมธาตุของทางภาคใต้ มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์หนึ่งในจตุธรรมธาตุ ลักษณะขององค์พระธาตุคล้ายกับพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แต่มีขนาดย่อมกว่า
พระธาตุสวีได้มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ในปัจจุบันพระบรมธาตุสวีมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม 2 ชั้น ฐานชั้นล่างกว้าง 8.50 เมตร ประดับด้วยซุ้มรูปช้างโผล่ศีรษะและขาหน้า เสมือนค้ำเจดีย์ไว้ด้านละ 3 ซุ้ม สลับกับรูปยักษ์ถือกระบองและประดับด้วยเสาหลอก 6 ต้น (เว้นด้านทิศใต้ มีบันไดทางขึ้น จึงมีช้างเพียง 2 ซุ้ม)
มุมทั้งสี่ของฐานมีเจดีย์จำลองเลียนแบบเจดีย์ประธาน ฐานชั้นบนมีพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งในซุ้มด้านละ 5 ซุ้ม มุมทั้ง 4 ของฐานมีเจดีย์จำลองประดับไว้เช่นกัน ตัวเจดีย์เป็นทรงระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นเสาหาร ก้านฉัตร บัวเถา ปล้องไฉน 7 ชั้น บนสุดเป็นปลียอด และเม็ดน้ำค้าง วัดพระธาตุสวี (วัดสวี) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และถือเป็นโบราณสถานสำคัญของจังหวัดชุมพร
มีตำนานเล่าถึงประวัติการสร้างพระธาตุบรมสวีว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จยกทัพมารี้พลมาพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งในเขตอำเภอสวี ได้พบกาเผือกและกาฝูงหนึ่งเกาะอยู่บนกองอิฐกระพือปีกและส่งเสียงร้อง พระองค์จึงให้รื้อเศษกองอิฐที่กองทับถมกันออกพบฐานเจดีย์ใหญ่
เมื่อขุดลึกลงไปได้พบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้แม่ทัพนายกองไพร่พลช่วยกัน สร้างเจดีย์ขึ้นมาใหม่แทนที่เดิมแล้วจัดงานสมโภชเป็นการใหญ่เป็น เวลา 7 วัน 7 คืน จากนั้นพระราชทานชื่อว่า พระบรมธาตุกาวีปีก (วีปีกแปลว่ากระพือปีก)
ต่อมาเรียกกันว่า “พระธาตุกาวี” และคำว่า “กาวี” ได้เพี้ยนจนเป็นกลายเป็นสวีในปัจจุบัน ก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจะเสด็จยกทัพกลับ ทรงห่วงใยพระบรมธาตุว่าจะไม่มีผู้ดูแลรักษา จึงสั่งเรียกบรรดาทหารในกองทัพซึ่งกำลังนอนหลับสนิท ในขณะนั้นมีทหารคนหนึ่งชื่อ “เมือง” ขานรับพระองค์จึงมีรับสั่งถามว่า ต้องการจะอยู่ดูแลรักษาพระบรมธาตุแห่งนี้ไหม นายเมืองขานรับอาสา
พระองค์จึงสั่งให้นายทหารตัดศีรษะนายเมืองเซ่นสรวงบูชาไว้ในศาลเพียงตา ศาลนี้เรียกว่า ศาลพระเสื้อเมือง ให้เป็นผู้เฝ้ารักษาพระบรมธาตุ ในปัจจุบันศาลนี้ยังมียังมีคนทั่วไปเคารพนับถือในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีน
Phra Suea Mueang Shrine
Before trekking back, King Srithammakasokkarat had concerns about Phraborommathat (Buddha’s relic). Accordingly, he woke up his soldiers while they were asleep. There was one of them, named Mueng who answered his calling.
King Srithammakasokkarat asked him whether he wanted to guard Phraborommathat. He accepted the request, so the King ordered another soldier to cut Mueng’s head off for worshipping and kept his head in Phiany to Shrine.
Therefore, this shrine has been called “Phra Suea Mueang Shrine” for guarding Phraborommathat forever. Currently this shrine is worshipped by many people, especially Thai-Chinese people as holy thing.
ต่อมาศาลพระเสื้อเมืองมีสภาพชำรุดทรุดโทรม กรมศิลปากรจึงได้ออกแบบอาคารใหม่ให้มีลักษณะสอดคล้องกับพระบรมธาตุสวี โดยเป็นอาคารทรงไทยหลังคาจั่ว หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ ผนังก่ออิฐฉาบปูน ด้านหน้ามีราวระเบียงลวดบัว พื้นอาคารปูนด้วยหินอ่อน
อ่านประวัติพระเสื้อเมืองแล้ว สตั้นแป๊บ .. นึกถึงนุ่นที่แสดงเรื่องพิษสวาทเลยแฮะ ตามตำนานหลายทีมักมีประวัติเช่นนี้เลย ต้องมีคนคอยเฝ้าสมบัติไว้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไว้ใจได้
เราได้ยินประวัติพระบรมธาตุแห่งนี้มานานแล้ว สมัยตอนอยู่ที่ใต้แต่ไม่เคยได้มีโอกาสมานมัสการพระธาตุสักที มาเที่ยวครั้งนี้ถือว่ามาถึงสวีแล้วสิเรา ..
Editor :: Patthanid Chenagtawee
IG :: patthanid
Facebook :: โสดเที่ยวสนุก By Patthanid
Website :: www.ablogtravel.com