Surin Island Trip 2023 Ep.4 หมู่บ้านมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์

Day 4 เที่ยวหมู่บ้านมอแกน

จากตอนที่แล้วเล่าถึง การดำน้ำที่หมู่เกาะสุรินทร์ มาตอนนี้จะเล่าถึงหมู่บ้านมอแกนกันบ้างนะคะ ซึ่งต้องบอกว่าทริปนี้ผู้เขียนเองก็มีโอกาสมาเที่ยวหมู่บ้านมอแกนเป็นครั้งแรกเหมือนกัน ด้วยความที่ก่อนหน้านี้จะไปหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ไปเพราะว่ามันจะเสียทริปดำน้ำไปหนึ่งที่พวกเราเลยเลือกไปดำน้ำดีกว่า

มาทริปนี้ด้วยความที่นักท่องเที่ยวน้อยมาก ทริปออกเรือก็จะซ้ำๆ กัน พวกเราเลยเปลี่ยนไปใช้บริการของอุทยานตอนแรกทางอุทยานบอกว่าจะไปอ่าวที่พวกเราอยากไป แต่ไปๆ มาๆ เจอเรื่องเดียวกันคือคนน้อยเลยต้องไปจอยทริปกับทัวร์อื่น แล้วลูกทัวร์เค้าอยากไปมอแกน พวกเราเลยได้ไปเที่ยวหมู่บ้านมอแกนฟรีแบบไม่ต้องเสียตังค์ โชคดีจริงๆ เลย เรื่องเที่ยวไว้ใจภัทรานิตย์ ผู้เขียนมีดวงเรื่องเที่ยวเสมอ

พวกเราก็ไปรอตรงจุดขึ้นเรือที่เดิมเพราะน้ำตื้นเรือจะเข้ามาไม่ได้ มาหมู่เกาะสุรินทร์ปีนี้เราได้เห็นโครงการเพาะพันธุ์เต่าทะเลด้วย มาตั้งหลายปีเพิ่งได้เห็นปีนี้มันเป็นสัญญาลักษณ์ที่บอกว่า ธรรมชาติมันกลับมาดีขึ้นแล้วจริงๆ โควิดมันก็ดีเหมือนกันนะ พวกเราได้พักกันหมดและเป็นบทเรียนที่สอนมนุษย์หลายๆ อย่างด้วยล่ะ

เท่าที่ถามเจ้าหน้าที่มาคือเต่าเนี่ยขึ้นมาวางไข่ที่อื่นแต่เค้าเอามาฟักเป็นตัวที่นี่ เพิ่งปล่อยเต่ากลับสู่ทะเลไปเมื่อไม่นานนักก่อนพวกเรามาหนึ่งเดือนเอง ดีจังต่อไปเราคงได้เห็นน้องเต่าทะเลเยอะขึ้น จำได้ว่าเรามาหมู่เกาะสุรินทร์ปีที่ให้เที่ยวหลังโควิดปีแรก น้องเต่าเยอะมาก ว่ายน้ำเป็นเพื่อนเลยล่ะ แต่พอมาปีนี้น้องเต่าหายไปไหนก็ไม่รู้ หวังว่าน้องเต่าจะโตขึ้นแล้วกลับมาอยู่ที่นี่กันเยอะๆ น้า

จากที่ทำการหมู่เกาะสุรินทร์พวกเรานั่งเรือมาไม่นานนักประมาณ 20 นาทีได้มั้ง ก็มาถึงหมู่บ้านมอแกนแล้วล่ะ ก่อนหน้านี้หมู่บ้านแห่งนี้เคยถูกไฟไหม้ ทางการเลยมาสร้างให้ใหม่ทุกบ้านมีโซล่าเซลใช้แล้วนะจ๊ะ บนหมู่เกาะสุรินทร์นั้นมีที่นี่ที่เดียวที่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ตลอดเวลาเลย เอาล่ะเรามารู้จักประวัติคร่าวๆ ของชาวมอแกนกันค่ะ

นักมนุษย์วิทยา Jacques Ivanoff สันนิษฐานว่าชื่อมอแกนเป็นคำย่อมาจากคำว่า “ละมอ” (ภาษามองแกนแปลว่า จม) และ “แกน” ซึ่งเป็น้องสาวของราชินีในตำนานเก่าแก่ของมอแกน ว่ากันว่าน้องสาวคนนี้ไปแย่งคนรักของพี่สาว จึงถูกสาปแช่งให้ตนเองและพรรคพวกต้องมีชีวิตร่อนเร่อยู่ในทะเล อันนี้เป็นตำนานนะ

ส่วนประวัติจริงๆ มีดังนี้จากตระกูลภาษาออสโตรนีเซีนนที่มอแกนใช้และจากการสืบสาวประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่านักเดินทางทางทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดกันว่ามอแกนคงสืบเชื้อสายมาจากพวกโปรโตมาเลย์ (Photo Malay) ซึ่งเป็นคนพวกแรกๆ ที่อพยพลงมาอยู่แถบคาบสมุทรมลายู

ต่อมาคนกลุ่มโปรโตมาเลย์หันมาใช้ชีวิตทางทะเลเดินทางร่อนเร่ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในพม่า ลงไปทางใต้และตะวันออกจนถึงหมู่เกาะในทะเลซูลู ประเทศฟิลิปปินส์และแถมเอาหลายๆ เกาะและชายฝั่งในมาเลเซีลและอินโดนีเซียไว้ด้วย

ปัจจุบันการเดินทางจำกัดลงมากและคนกลุ่มนี้ก็แยกย้ายกระจัดกระจายกัน พัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างออกไปจนแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม

ชาวเลในเมืองไทยมีด้วยกันอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. มอแกน 2. มอแกลน (ชื่อมอแกนเรียกว่า “ออลางตามับ”) 3. อูรักลาโว้ย (ชื่อมอแกนเรียกว่า “ออลางหล่อตา”) มอแกนและมอแกลนมีภาษาที่ใกล้เคียงกันมาก ส่วนภาษาอูรักลาโว้ยนั้น แม้จะเป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนเหมือนกัน แต่ก็พูดกับมอแกนและมอแกลนไม่รู้เรื่อง เพราะมีศัพท์และสำเนียงต่างกัน อูรักลาโว้ยและมอแกลนตั้งหลักแหล่งค่อนข้างถาวรและมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปค่อนข้างมาก และมักถูกเรียกขาน รวมทั้งเรียกตนเองด้วยว่า “ไทยใหม่”

ชีวิตของมอแกน ในสมัยก่อนมอแกนเดินทางไปมาตามชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะมะริดโดยใช้เรือ “ก่าบาง” เป็นทั้งพาหนะและบ้าน ก่าบางแบบดั้งเดิมเสริมกราบด้วยไม้ระกำ หลังคาก่าบางทำด้วยใบเตยหนามเย็บซ้อนกัน ปัจจุบันก่าบางแบบนี้ไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว ก่าบางสมัยใหม่เป็นเรือขุดเสริมกราบไม้กระดาน หรือต่อด้วยไม้กระดานซึ่งทนทานกว่าไม้ระกำ แต่ก็ต้องลงแรงถากไม้ ปัจจุบันเรือก่าบางแบบนี้เหลือแต่ลำที่ผุพังเป็นเศษซาก

ความเชี่ยวชาญของคนมอแกน มีความชำนาญการว่ายน้ำและดำน้ำ ผู้ชายและผู้หญิงดำน้ำได้ทั้งลึกและทน ดำน้ำเพื่อแทงปลา งมหอย ปลิงทะเล และสัตว์ทะเลอื่นๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำน้ำก็มีเพียงแว่นดำน้ำคู่เล็กๆ และฉมวก ถุงตาข่ายเพื่อใช้ใส่สัตว์ทะเลที่จับได้ แม้ว้าผู้หญิงจะว่ายน้ำและดำน้ำได้ดี แต่งานของผู้หญิงและเด็กมักจะเป็นการเก็บหาอาหาร เช่น หอย เพรียงพราย เม่นทะเล ตามชายหาดแนวประการัง และป่าโกงกาง

การเลือกตั้งกระท่อมและเพิงพักของชาวมอแกนจะเลือกบริเวณที่เป็นชายหาดในอ่าวที่สามารถหลบคลื่นลมได้ อ่าวเหล่านี้มักจะอยู่ด้านตะวันออกของเกาะ อยู่ด้านตรงกันข้ามกับฝั่งที่รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรืออยู่ในบริเวณที่มีกำบังคลื่นลม เป็นบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำจืดซึ่งอาจจะเป็นทางน้ำจากป่า น้ำซับ น้ำซึม หรือน้ำผุดบริเวณไม่ไกลจากชายหาด และเป็นบริเวณที่ชายหาดมีความลาดชันพอเหมาะสามารถจะจอดเรือได้สะดวกและแล่นเรือเข้าออกได้ง่าย

ในช่วงที่มีการทำเหมืองแร่ ชาวมอแกนจะเดินเรือไปรับจ้างทำเหมืองแร่ และเก็บแร่ตามชายหาดด้วย มอแกนกลุ่มหนึ่งยังเดินทางไปเกาะพระทองใกล้ฝั่งอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เพื่อเข้ามาหางานในสมัยที่การทำเหมืองแร่ยังรุ่งเรือง ภายหลังเมื่อสถานการณ์การทำเหมืองแร่ตกต่ำลง กลุ่มที่ไปทำแร่ได้อพยพเคลื่อนย้ายกลับมาที่เกาะสุรินทร์อีกครั้ง และตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณช่องขาดอุทยานฯ และบางส่วนเลือกใช้พื้นที่พักอาศัยที่บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เพราะเป็นอ่าวขนาดใหญ่ที่หลบลมได้ รวมทั้งมีแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์

ช่วงต้นทศวรรษ 2530 เกิดโรคระบาด พวกที่อยู่ที่อ่าวบอนใหญ่จึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณอ่าวช่องขาดตรงข้ามที่ตั้งสำนักงานอุทยานฯ แล้วก็ย้ายกลับไปอ่าวบอนใหญ่และอ่าวบอนเล็กอีก เป็นที่มาของหมู่บ้านมอแกนในปัจจุบัน

เหตุการณสึนามิชาวมอแกนรอดมาได้อย่างไร?

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หมู่บ้านมอแกนทั้งสองแห่งได้รับความเสียหายทั้งหมดจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ชาวมอแกนปลอดภัยจากสึนามิเพราะว่ามีความคุ้นเคยกับทะเลเป็นอย่างดี พวกเขาสังเกตุเห็นน้ำทะเลที่เหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว ผู้ใหญ่บางคนหวนระลึกถึงตำนานของ “คลื่นเจ็ดชั้น” และคาดการณ์ว่าคลื่นยักษ์หรือคลื่นเจ็ดชั้น “นามัด ลูยู้ก คลีน” คงจะเกิดขึ้นแน่ๆ ชาวมอแกนมีสัญชาตญาณระแวดระวัง พอเห็นเช่นนั้นจึงร้องเตือนกันและวิ่งขึ้นไปอยู่บนที่สูง คือเนินเขาหลังหมู่บ้านอ่าวบอนใหญ่และอ่าวไทรเอน

พวกเขายังได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว พวกหนุ่มๆ ที่ขับเรือก็นำเรือหัวโทงออกไปให้ห่างจากเกาะและชายหาด เพราะรู้ดีว่าคลื่นและกระแสน้ำที่ปั่นป่วนจะกระแทกเรือ คน และสิ่งของต่างๆ เข้ากับฝั่งอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีคลื่นมีกระแสน้ำที่ปั่่นป่วนและร่องน้ำต่างๆ เปลี่ยนไปเพราะแรงคลื่น แต่พวกหนุ่มๆ ก็มีสติและประคองเรือหัวโทงให้แล่นไปอย่างปลอดภัยได้ และบ้างก็พานักท่องเที่ยวเข้าไปบนเนินเขาเพราะว่ารู้จักพื้นที่นี้เป็นอย่างดี

หลังเหตุการณ์สึนามิชาวมอแกนอพยพมาอยู่วัดสามัคคีธรรม มีคนให้ความช่วยเหลือ เอาอาหารและเสื้อผ้ามาบริจาคให้มากมาย แต่พวกเขาก็คิดถึงบ้านมาก คิดถึงเสียงคลื่นและกลิ่นอายของป่าและทะเล หลังจากที่ความวุ่นวายจากสึนามิผ่านพ้นไป ชาวมอแกนก็กลับมาที่เกาะสุรินทร์และมีอาสาสมัครจากฝั่งมาช่วยสร้างหมู่บ้านให้ที่อ่าวบอนใหญ่

ใครที่สนใจในประวัติของชาวมอแกนสามารถไปอ่านกันได้หมู่บ้านมอแกนค่ะ เค้าจะมีทางไปห้องนิทรรศการประวัติของชาวมอแกน มีแบบภาษาอังกฤษและภาษาไทยเลยค่ะ หากใครได้มาเดินเที่ยวในหมู่บ้านกิจกรรมหลักก็คือการช้อปปิ้งสินค้าหัตถกรรมของชาวมอแกน

พวกสร้อยข้อมือ สร้อยข้อเท้า กำไร งานแกะสลักเรียกว่ามีจำหน่ายกันทุกครัวเรือน กระเป๋าที่เห็นเค้าก็ทำมาจากเศษเชือกที่ลอยมาในทะเล เก่งมากๆ เลยนะ งานหัตถกรรมก็ทำได้สวยงาม ส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะชอบมาซื้อกลับกัน เด็กมอแกนที่นี่เค้าขายของเก่งมาก พอบ้านมีโซล่าเซลเค้าก็สามารถดูทีวีได้ เด็กๆ มอแกนนี่ฉลาดเลยล่ะ จำได้ว่าวันที่ไปน้องๆ ร้องเพลง “ทรงอย่างแบด” เป็นเพลงที่ดังมากใน พ.ศ 2566 เลยนะขวัญใจเด็กอนุบาลเลยวงนี้

พอไปเที่ยวหมู่บ้านมอแกนเราก็ไปดำน้ำกันต่อล่ะ โชคดีมากที่ชาวต่างชาติในทริปนี้มาที่นี่ ไม่งั้นคงไม่ได้มาเที่ยวหมู่บ้านมอแกนแห่งนี้แน่นอน ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวที่นี่ตอนเช้าวันกลับ เพราะจะได้แต่งตัวสวยๆ มาถ่ายรูปกันที่นี่ ซึ่งวันกลับทีไรพวกเราไม่เคยได้สวยเลย เพราะกว่าจะตื่น 5555

Editor :: Patthanid Chenagtawee
IG :: patthanid
Facebook :: โสดเที่ยวสนุก By Patthanid
Website :: www.ablogtravel.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *